วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


๔. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ป่าชุมชน คือ รูปแบบการใช้ที่ดิน ป่าและทรัพยากรต่างๆ จากป่าที่ชาวบ้านตามชุมชนในชนบทที่อยู่ในป่าหรือใกล้ป่าได้ใช้กันเป็นเวลานานแล้ว โดยมีระบบการจำแนกการใช้ที่ดิน ป่าและทรัพยากรต่างๆ มีอาณาเขตและกฎเกณฑ์การใช้เป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั้งภายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง พร้อมทั้งมีองค์กรชาวบ้านรูปแบบหนึ่งรับผิดชอบด้านการจัดการอย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้านอันเกิดจากการสะสมประสบการณ์แห่งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพและทางสังคม-วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการถ่ายทอดและสะสมภูมิปัญญานั้นมาหลายชั่วอายุคน
รูปแบบและความสัมพันธ์ทางสังคมอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่ต้องอาศัยป่าหรือที่ดินรอบๆ ป่า เพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค โดยอาศัยป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่มาของอาหาร สมุนไพร วัสดุเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย เครื่องมือ การผลิตเชื้อเพลิง และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ภายในชุมชน
         ศาลเจ้าปู่บุญมี ย่าเศรษฐี
          ศาลเจ้าปู่บุญมี ย่าเศรษฐี  ตั้งอยู่ที่หมู่  ๑๑  บ้านคำบง  มีพื้นที่ประมาณ  ๑๐  ไร่ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่คู่บ้านคำบงมาเช้านานแล้ว จากคำบอกเล่าของ  แม่ซอน  ประเสริฐหล้า  เจ้ากวนจ้ำ
( ตัวแทนผู้ที่ทำพิธี ที่ศาลเจ้าปู่ ) เดิมเรียกศาลเจ้าปู่ตา ย่าเฒ่า  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น ศาลเจ้าปู่บุญมี ย่าเศรษฐี เพราะท่านเข้าฝันบอกชื่อ  ลูกหลานชาวบ้านคำบง จะเคารพนับถือกันทั้งหมู่บ้าน จะทำอะไร ทีไหน จะเดินทางไปที่ใด ก็ต้องบอกกล่าว เพื่อให้ท่านคุ้มครองให้ปลอดภัย แต่ถ้าใครไม่บอกกล่าวจะเกิดเหตุ ภัยอันตราย หรืออาจจะมีสิ่งบอกเหตุ เช่น เห็นสัตว์ใหญ่ ตะพาบน้ำตัวใหญ่ งูใหญ่  ออกมาจากศาลให้เห็น จะมีความเดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้าน
ลูกหลานชาวตำบลคำบง จะทำพิธีบวงสรวงปีละ  ๓  ครั้ง คือ
                   - เดือน มีนาคม  เลี้ยงถางป่า ทำความสะอาดศาล
                   - เดือนมิถุนายน เลี้ยงขอฝน จะเลี้ยงไก่  เหล้า  หมาก  พลู  บุหรี่
                    - เดือนธันวาคม  จะเลี้ยงข้าวเม่า  เพื่อจะได้ทำนาได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย
               ชาวชุมชนตำบลคำบงจะทำพิธีบวงสรวงทุกปี จนทุกวันนี้
          ตำบลคำบง มี ดอนเจ้าปู่บ้านหนองโง้ง อีกแห่งหนึ่ง
          ตำบลไค้นุ่น   มี ดอนเจ้าปู่บ้านไค้นุ่น  ดอนเจ้าปู่บ้านผึ้ง  ดอนเจ้าปู่บ้านเหล่าสีแก้ว
จะทำพิธีบวงสรวงปีละ ครั้ง คือ ก่อนลงทำนา และหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ
          ตำบลห้วยผึ้ง  มี ดอนเจ้าปู่ที่บ้านหนองแสง  ทำพิธีบูชาบวงสรวงปีละ ครั้ง
ส่วนหมู่บ้านอื่นไม่มีดอนเจ้าปู่ แต่จะมีหลักบ้านทุกหมู่บ้าน หรือ เจ้าปู่หลักบ้าน
          ตำบลหนองอีบุตร ไม่มีดอนเจ้าปู่ แต่ทุกหมู่บ้านจะมี หลักบ้าน (เจ้าปู่หลักบ้าน) จะทำพิธีบูชาบวงสรวงปีละ 1 ครั้ง
          ทุกหมู่บ้านในอำเภอห้วยผึ้งจะมีหลักบ้าน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้านทุกหมู่


การบวชป่า เป็นความเชื่อที่มีมาช้านานซึ่งความเชื่อนี้มีฐานความคิดมาจากการบูชาเทวาดา ซึ่งมีความเชื่อเรื่อง รุกขเทวาดาที่สิ่งอาศัยอยู่ในต้นไม้ตามหลักความเชื่อ เรื่องรุกขเทวาดา ต้นมีมีเทวาดาอยู่สอง จำพวก คือ เทวาดาที่มีวิมานอยู่บนต้นไม้ กับเทวาที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ดังนั้นการบวชต้นไม้จึงเป็นความเชื่อหนึ่ง เพื่อเป็นการเคารพบูชาต้นไม้การบวชต้นไม้ อาศัยหลักความเชื่อให้คนไม่กล้าตัดไม้ทำลายป่าและช่วยให้ป่าไม้สมบูรณ์โดยการร่วมกันอนุรักษ์
พิธีการบวชต้นไม้ จะเริ่มตั้งแต่การสำรวจต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่และเกรงว่าน่าจะถูกลักลอบตัดซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพญาไม้ จากนั้นชักชวนชาวบ้านให้ร่วมมือกันจัดเตรียมเครื่องเซ่นสังเวยเจ้าป่าเจ้าเขา เครื่องสังเวยจะประกอบด้วย
๑. ข้าวเหนียวสุก ๑ ปั้น
๒. กล้วยสุก 1 ลูก
๓. หมากคำ พลูใบ
๔. ผ้าเหลืองตามจำนวนต้นไม้
๕. ด้ายสายสิญจน์
๖. บาตรน้ำมนต์
๗.น้ำขมิ้นส้มป่อย
จากนั้นก็สร้างศาลเพียงตาสำหรับอัญเชิญรุกขเทวดามาคอยปกปักรักษาต้นไม้ แล้วทำพิธีไหว้แม่พระธรณี ใช้หมากพลู สำหรับการบวชต้นไม้ จะมีผ้าเหลือง (สุดแล้วแต่ว่าจะบวชต้นไม้กี่ต้น) ด้ายสายสิญจน์ บาตรน้ำมนต์และส้มป่อยจากนั้นโยงด้ายสายสิญจน์ไปตามต้นไม้ในบริเวณป่า แล้วโยงมายังสถานที่ทำพิธี ซึ่งจะมีพระพุทธรูปตั้งเป็นประธานมีพระสงฆ์และอาจารย์ (หมอเวทมนตร์) ทำพิธีเชิญเทวดาอารักษ์ ผีป่า ผีเขา  ทำพิธีเซ่นสังเวยเทพารักษ์ เจ้าป่าเจ้าเขา ให้รับรู้และให้มาอยู่ในป่าไม้ ดูแลต้นไม้ หากมีผู้ใดมาตัดไม้ ทำลายป่า ขอให้ผู้นั้นมีอันเป็นไปต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของหมอเวทมนตร์ที่จะนำมากล่าวเมื่อเสร็จพิธีเซ่นสังเวยแล้ว ก็เป็นพิธีสงฆ์ เริ่มจากไหว้พระรัตนตรัย สมาทานศีลอาราธนาพระปริตรพระสงฆ์เจิมต้นไม้ เสร็จแล้วพระสงฆ์ จะห่มผ้าเหลืองให้ต้นไม้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา จากนั้นประพรมน้ำพระพุทธมนต์ตามต้นไม้ที่บวชไว้ เป็นเสร็จพิธี
พิธีบวชต้นไม้เป็นการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน  คือ การอนุรักษ์ป่าไม้ของหมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ที่อำเภอห้วยผึ้ง จะจัดพิธีบวชต้นไม้ที่วัดภูน้อยธรรมนิมิต ตำบลนิคมห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่า เพื่อใช้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง ห้วยฝา เพราะแนวเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ข้าพเจ้าไปทำบุญที่วัดนี้บ่อยๆ มีการนำป้ายพุทธศาสนสุภาษิต ที่นักเรียนทำส่งครูคนละแผ่น  มาติดตามต้นไม้ เพื่อให้ความรู้ผู้ที่มาวัดได้อ่าน มีช่วงที่มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ไปทำบุญ แต่อยู่นานเหมือนเดิมไม่ได้ ช่วยทำบุญแล้วก็กลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น