วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม


. ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
สำหรับด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ชาวอำเภอห้วยผึ้ง มีภูมิปัญญาด้านนี้หลายประเภท เช่น
การทอผ้า การย้อมผ้าคราม  การทำผ้าห่ม การทำหมอนลายขิด การทำผ้าข้าวม้า การทอผ้าไหมบ้าน การทอผ้าถุงลายต่าง ๆ รุ่นย่า ยาย รุ่นแม่ ของข้าเจ้า ทำได้ แต่รุ่นข้าพเจ้าทำไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมาหมดทุกอย่างที่พูดมาเพราะเป็นวิถีชีวิตของชาวชนบท ตอนที่เป็นเด็ก ที่ประทับใจคือผ้าถุงลายช้าง หมอนขิดลายสวย ๆ ผ้าไหมที่เป็นผ้าถุงลวดลายต่างๆ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดมา แต่ปัจจุบันภูมิปัญญาเหล่านั้นกำลังจะหมดไป  ปัจจุบันมีให้ดูได้ที่บ้านคำบงและบ้านหนองอีบุตรในการย้อมครามผ้า แต่ก่อนต้นครามมักมีแมงกวงไปจับเยอะมาก (ภาคเหนือใช้แมงกวงชนกัน พนันกัน เป็นเกมกีฬาชนิดหนึ่ง) ภาคอีสานเก็บมาคั่วกิน หรือทอดกินค่ะ และด้านหัตถกรรม ก็มีอยู่ เช่นการทอเสื่อจากต้นกก  คือต้นกก มีทั้งชนิดที่อยู่ในน้ำและที่อยู่บนบก
เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีแล้วแต่วัตถุดิบ เช่นบ้านที่อยู่ใกล้หนองน้ำก็พากันทอเสื่อกกไว้ใช้หลังฤดูการเก็บเกี่ยว ส่วนบ้านที่อยู่โนน หรือที่สูงก็ปลูกต้นกกไว้ทอเสื่อใช้ไม่ต้องซื้อหา หรือเอาไว้เป็นของฝากให้กับญาติ พี่น้อง
และสานกระติบข้าวด้วยคล้า สานกระติบข้าวด้วยด้าย สานกระติบข้าวด้วยไม้ไผ่ สานกระด้ง สานกระบุง สานตะกร้า ทำไม้มือเสือ ทำไม้กวาดจากต้นออ สานแห่ สานสวิง สานไซ สานข้อง ไพหญ้าคา สานหวดนุ่งข้าว ฯลฯ  เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือที่ใช้ทำมาหากิน เป็นส่วนใหญ่ ใช้วิถีชีวิตแบบเรียบง่าย
และมีภูมิปัญญาด้านที่กล่าวมาบางส่วนนำมาแสดงให้ดูค่ะ
ภูมิปัญญาการย้อมผ้าสีคราม ( ย้อมหม้อนีล )
          สีคราม  เป็นสีจากธรรมชาติที่ได้จากภูมิปัญญาที่มนุษย์รู้จักมานานกว่า   ๒,๐๐๐  ปีมาแล้ว  โดยการนำพืชชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ต้นคราม  ซึ่งเป็นพืชล้มลุก สูง ประมาณ ๑- ๑.๒๐  เมตร  มีอายุประมาณ
๒- ๓ ปี ใบแบบขนนก  ดอกสีเหลือง  ฝักคล้ายฝักถั่วเขียว แต่เล็กกว่า ออกดอกเป็นกระจุก
สีครามได้จาก การนำส่วนของต้นคราม มาหมักแช่น้ำให้เน่าเปื่อย  แล้วแยกเอาส่วนของเนื้อสีออกมา แล้วนำมาทำให้ตกตะกอนโดยการเติมปูนขาว   พอตกตะกอนจึงแยกส่วนที่เป็นน้ำออกจะได้เนื้อครามเป็นตะกอนข้น  เหนียวเหมือน โคลน
การย้อมผ้าคราม จะนำเนื้อครามที่ได้มาผสม น้ำด่าง ก็คือ น้ำที่ได้จากการแช่ ผงถ่านไม้ที่มีฤทธิ์เป็นเบส ( ด่าง)  เช่น ไม้เปลือกนุ่น ( ไม้งิ้ว ของคนอีสาน )  ต้นกล้วย  และผสมส่วนประกอบต่าง ๆ ตามสูตรหรือวิธีการของแต่ละบุคคล  แล้วกวนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โยกคราม ให้โดนอากาศแล้วทิ้งไว้ให้เนื้อครามเปลี่ยนสี จากสีน้ำเงินเป็นสีเหลืองอมเขียว จึงย้อมโดยการนำผ้าฝ้าย ที่ซุบย้ำพอหมาด ๆลงย้อม ผ้าจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีจากขาว เป็น เหลือง และเป็นสีน้ำเงินเข้มในที่สุดที่เราเรียกว่า “สีคราม”

 


ภูมิปัญญาการทอผ้า
          ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีมนุษย์อยู่อาศัยมานานนับเป็นหมื่น ๆ ปีแล้ว  ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ไทยเป็นต้นมา มนุษย์รู้จักการทอผ้าใช้เองจนกระทั่งปัจจุบัน การทอผ้ายังคงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
          การทอผ้าพื้นเมืองของชาวอีสาน จะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน กว่าจะมาเป็นผืนผ้าจะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน  โดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้ทอก็คือ ฝ้าย
          ฝ้าย เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตในบริเวณที่มีอากาศร้อน ชอบดินเหนียวปนทราย อากาศโปร่ง  มีอายุประมาณ  ๖-๗  เดือน การเก็บเกี่ยวจะเก็บดอกฝ้าย แล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้งสนิท จากนั้นก็นำไปแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย โดยการนำไปอิ้วที่เราเรียกว่า อิ้วฝ้าย เสร็จแล้วนำปุยฝ้ายที่ได้ไปดีดด้วยกงดีดฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายแตกละเอียด แล้วนำไปล้อด้วยไม้ล้อ คลึงใส่กระดานล้อให้เป็นแท่งกลม ๆ  หลังจากนั้นจึงนำไปเข็นให้เป็นเส้นใย โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า หลา จากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายที่ได้ไป ฆ่า ด้วยการซุบน้ำข้าว เพื่อให้ฝ้ายมีความเหนียว  คงทน ไม่ขาดง่าย เมื่อตากแดดจนแห้งก็นำไปใส่กง เพื่อกวักเป็นเส้นด้ายแล้วนำมาปั่นหลอดแยกเส้นด้ายออกจากกัน เพื่อนำไปทอผ้าต่อไป

ขั้นตอนการทอผ้า
การทอผ้าก็ คือ การทำให้เส้นด้าย  ๒  กลุ่ม ขัดกัน  โดยด้ายที่สองพวกตั้งฉากกัน เส้นด้ายกลุ่มที่ ๑ เรียกว่า ด้ายยืน และอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าด้ายพุ่ง ลักษณะของการขัดกันของด้ายทั้ง สองกลุ่มจะขัดกันแบบธรรมดาที่เราเรียกว่า ลายขัดหรืออาจจะเพิ่มเทคนิคพิเศษเพื่อให้ผ้ามีลวดลายสีสันสวยงามแปลกตา




ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านหัตถกรรม
สานกระติบข้าวด้วยคล้า
นายโพธิ์      ชมพูเพชร       อายุ   ๖๘  ปี
บ้านเลขที่  ๕๔   หมู่ที่ ๔   บ้านหนองอีบุตร    ตำบลหนองอีบุตร   อำเภอห้วยผึ้ง  จังหวัดกาฬสินธุ์
ความเป็นมา
          พ่อโพธิ์    ชมพูเพชร  เริ่มสานกระติบข้าวเมื่ออายุ  ๑๕  ปี  ตอนบวชเป็นเณร  หลวงตาเป็นคนสอนที่วัด  สาเหตุที่สานกระติบข้าวเนื่องจากรักในด้านนี้และสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน  วัสดุที่ใช้ไม่ได้ซื้อเพราะหาจากแหล่งธรรมชาติ  หาได้ง่าย  และสืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
วัสดุ / อุปกรณ์
          ๑.  คล้า   เลือกเอาคล้าที่มีอายุประมาณ  ๒ - ๓  ปี  สังเกตลำต้นจะเป็นสีเขียวเข้ม
          ๒.  ด้าย/ เชือกไนล่อน   ใช้เย็บขอบให้แน่น
          ๓.  เข็ม  ใช้เย็บขอบและขากระติบข้าวให้แน่น
          ๔.  ไม้เนื้ออ่อน  เช่น  ไม้กอก  ไม้ยอ  ใช้ทำขากระติบข้าว
          ๕ไม้ไผ่  เลือกเอาไม้ที่อายุ  ๒ - ๓  ปี
ต้นคล้ามีอายุประมาณ  ๒-๓ ปีลำต้นจะสีเขียวเข้ม

วิธีทำกระติบข้าว
           .  กระติบข้าวกล่องใหญ่  ตัดลำคล้ายาวประมาณ   ๘๐ cm กระติบข้าวกล่องเล็ก ตัดลำคล้ายาวประมาณ  ๖๐ cm


     ๒.   นำคล้ามาผ่า  ลอกเปลือก  ขูดเยื่อข้างในออกเอาแต่เปลือก
          ๓.   นำเปลือกคล้าที่ได้มาผ่าเป็นซีกๆ  ความกว้างประมาณ ๐.๕ cm 
๔.   นำคล้าที่ผ่าแล้วไปตากแดดประมาณ  ๒ -๓  วัน  แล้วนำมาสาน
๕.  ตัวกระติบข้าวใช้ลายสองยืน  ฝากระติบข้าวใช้ลายสองเวียน  สานเสร็จแล้วนำมาเย็บเข้ากันเป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย


ราคา/ขาย
          กระติบข้าวขนาดใหญ่    กล่องละ           ๑๕๐   บาท
          กระติบข้าวขนาดเล็ก      กล่องละ          ๑๒๐  บาท

การถ่ายทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่น
      ๑.  สอนการสานกระติบข้าวให้ลูกหลานในชุมชนได้ฝึกปฏิบัติ
      ๒. จัดทำเอกสารแผ่นพับประกอบการเรียนรู้ 




ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ด้านหัตถกรรม
สานกระด้ง
นายเจริญ   ชมศรีภา     อายุ   ๗๘  ปี
บ้านเลขที่  ๔๕  หมู่ที่  ๔  บ้านหนองอีบุตร   ตำบลหนองอีบุตร   อำเภอห้วยผึ้ง   จังหวัดกาฬสินธุ์
ความเป็นมา
          พ่อเจริญ   ชมศรีภา  สานกระด้ง  ถักไม้กวาดสืบทอดมาจากพ่อปาน   อุ่นบุญเรือง   สาเหตุที่สานกระด้งและถักไม้กวาดเพราะเป็นของใช้ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน  วัสดุอุปกรณ์หาได้ง่ายตามท้องถิ่น  และเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นให้ลูกหลานสานต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
วัสดุ/อุปกรณ์
          ๑. ไม้ไผ่บ้าน   อายุประมาณ  ๑  ปี  (เปลือกมีสีเขียวอ่อน)
          .  ด้ายและหวาย  
          ๓.  เข็ม
          ๔.  คีม

ขั้นตอนการทำกระด้ง
๑.     นำไม้ไผ่ขนาดความยาว  ๑  เมตร  มาผ่าเป็นซีกๆ  ซีกละ  ๐.๕  ซม.  หรือ  ๑ ซม. 

๒.    นำไม้ไผ่ที่ผ่ามาจักให้บางพอประมาณ   นำมาสานลายสอง  ในกรณีสานแบบทึบ  และสานลายสาม ถ้าต้องการสานแบบห่าง  แล้วนำมาเข้าขอบที่เตรียมไว้แล้วเย็บให้แน่น
๓.    นำกระด้งที่ได้ไปรมควันไฟเพื่อป้องกันแมลงมาเจาะเนื้อไม้

ราคา /ขาย
กระด้งใบละ      ๕๐  บาท   ทั้งอย่างทึบและห่าง
การถ่ายทอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น
            ๑.  สาธิตและบรรยายให้กับลูกหลานเรียนรู้ถึงขั้นตอนการผลิต
๒. มีอุปกรณ์ให้ลูกหลานได้ทดลองจักสานกระด้ง
            ๓. จัดทำเอกสารแผ่นพับประกอบการเรียนรู้




ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านหัตถกรรม (ทอเสื่อด้วยต้นกก)

            แม่คำพันธ์    มาลาม้วย    อายุ  ๖๔  ปี 

บ้านเลขที่  ๑๗   หมู่ที่  ๔   บ้านหนองอีบุตร   ตำบลหนองอีบุตร   อำเภอห้วยผึ้ง   จังหวัดกาฬสินธุ์
ความเป็นมา
แม่คำพันธ์   ปลูกต้นกกมาประมาณ  ๒  ปีโดยได้รับพันธุ์ต้นกกมาจากคนในหมู่บ้านปลูกเพื่อ
ทอเสื่อไว้ใช้เองในครัวเรือนและจำหน่ายในหมู่บ้านและใช้เป็นสื่อสอนลูกหลานทอเสื่อด้วย

วัสดุ/อุปกรณ์
๑.    ต้นกกที่แห้งแล้ว
๒.   เชือกเส้นเล็ก  (ทำด้วยฟางหรือไนล่อน)
๓.   ชุดฟืม 
๔. สีย้อมผ้า
๕.  กรรไกร
๖.  หม้อย้อมสี

ขั้นตอนการปลูกต้นกก
๑.  เตรียมพื้นที่สำหรับปลูก   ควรปลูกใกล้น้ำให้มากที่สุด
๒. นำยอดกกที่มีต้นอ่อนเล็ก ๆ   ตั้งแช่น้ำประมาณ  ๑  คืน  จะมีรากฝอยขึ้นรอบ ๆ  ต้นอ่อน

๓. นำต้นกกที่แช่น้ำแล้วมาลงหลุม  โดยขุดหลุมขนาดประมาณ  ๓๐ x ๓๐ ซม. รดน้ำจนชุ่ม ปลูกประมาณ  ๒ ๓ เดือน ความยาวต้นกกประมาณ ๑.๒ ๑.๕ เมตรก็สามารถนำมาผลิตเสื่อได้  ควรตัดต้นกกไปเรื่อย ๆ  เพื่อให้มีพื้นที่ในการเกิดต้นใหม่

ขั้นตอนการทอเสื่อ
๑.  ตัดต้นกกที่มีขนาดความยาวพอดี  (ความยาว   ๑.๒ ๑.๕  เมตร) 
๒. นำต้นกกมาผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ  แล้วนำไปตากแดดประมาณ  ๓  วัน ป้องกันการเกิดเชื้อรา

๓. นำถุงพลาสติกมาห่อกกไว้  เพื่อป้องกันแมลงกัดแทะ  และเชื้อราในฤดูฝน
๔. ถ้าต้องการทอเสื่อสีพื้น (สีธรรมชาติ) สามารถทอได้เลยไม่ต้องย้อม  ถ้าต้องการทอเสื่อเป็นสีต่าง ๆ  ให้ย้อมสีตามต้องการ
๕. การย้อมสีจะใช้หม้อย้อมอันเดียวกัน  แต่แยกย้อมเป็นสีๆไป
๖.  ติดตั้งชุดฟืมทอเสื่อ ใช้เชือกฟางหรือเชือกไนล่อน สอดรูของฟืมตามระยะห่างที่ต้องการ ถ้าต้องการให้เสื่อมีความหนามากให้สอดเชือกทุกรูของฟืม  เราสามารถกำหนดความยาวและความกว้างของเสื่อเองได้จากจำนวนของเชือก
๗.  เริ่มทอเสื่อตามแบบที่เราต้องการ  โดยเปลี่ยนฟืมคว่ำ หงาย  เป็นลายขัด  ขณะสอดเส้นกก ตามเชือก  และม้วนเก็บปลายกกทุกเส้น  เพื่อป้องกันการหลุดลุ่ย

 ๘. เมื่อทอเสร็จแล้ว  ให้ตัดเชือกที่ผูกตรึงไว้ทั้งบนและล่าง  ถักเชือกที่ติดมากับเสื่อป้องกันการหลุดของเส้นกก
ผลผลิต / เดือน
          ประมาณ   ๒๐  ผืน
ราคา/หน่วย
          เสื่อสีพื้น (ไม่ย้อมสี)        ราคา    ๑๐๐  บาท/ผืน
          เสื่อสลับสี                        ราคา   ๑๕๐  บาทขึ้นไป
การถ่ายทอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น
            ๑.  สอนลูกหลานในชุมชนถึงขั้นตอนการทอเสื่อเพื่อใช้เองและจำหน่าย   จำนวน  ๖   ครัวเรือน
๒. มีอุปกรณ์ให้ลูกหลานสามารถทดลองทอเสื่อ
            ๓. ทำเอกสารแผ่นพับประกอบการเรียนรู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น