วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ด้านศิลปกรรม


6. ด้านศิลปกรรม
ด้านศิลปกรรม การวาดภาพที่วัดทุกวัดส่วนมากในอำเภอห้วยผึ้งที่เห็นก็จะเป็นเรื่องราวของ
พระเวสสันดรชาดก เป็นส่วนใหญ่ ที่วัดบ้านข้าพเจ้าก็เป็นภาพธรรมชาติ หลังพระประธานองค์ใหญ่ก็จะเป็นภาพจำลองสมัยพระพุทธเจ้า มีน้ำตก มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์  ช่างที่เขียนเป็นลูกหลานที่ไปเรียนทางด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยแล้วสำเร็จกับมาบ้าน ก็เลยมีเวลาว่างเขียนภาพให้กับทางวัดบ้านโนนสมควร อำเภอห้วยผึ้ง  ส่วนวัดอื่นๆก็จะจ้างช่างที่มีฝีมือเขียนให้
          ส่วนด้านการฟ้อนรำ ดนตรี เป็นวิถีชีวิตของชาวอำเภอห้วยผึ้ง เพราะมีงานให้มีการละเล่นต่างๆ ทุกเดือน มีการผลิตเครื่องดนตรีใช้เองเช่น พิน แคน โปงลาง มีวัสดุในท้องถิ่น ส่วนกลองต่างๆ ไปสั่งซื้อจากที่อื่น
ข้าพเจ้าเคยไปซื้อกลองใหญ่กับพระ ชาวบ้าน และเด็กนักเรียน ที่จังหวัดอุบลราชธานี เพราะมีไม้ขนาดใหญ่และมีหนังควายใช้ทำกลอง  เป็นหมู่บ้านทำกลองขายโดยเฉพาะ และได้แวะเที่ยวผาแต้ม แม่น้ำสองสี ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้าน
          วงโปงลาง ถือว่าเป็นวงดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ ของชาวอำเภอห้วยผึ้ง   ตำบลคำบงมีการรวมกลุ่มเล่นดนตรีครั้งแรก คือ  วงแคนวง  ต่อมาค่อยพัฒนามาเป็นวงโปงลางในปัจจุบัน  ส่วนตำบลห้วยผึ้ง ตำบลหนองอีบุตร ตำบลไค้นุ่นมีวงโปงลางในโรงเรียนและในหมู่บ้าน จะทำการแสดงในงานสำคัญต่างๆ
การละเล่นวงโปงลางจะบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีหลายชนิดได้แก่
          1. โปงลาง  เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงทำนองด้วยการตี  ทำจากไม้เนื้อแข็ง คือ ไม้มะหาด ที่มีขนาดแตกต่างกันมาเรียงตามลำดับเสียง เป็นลูกระนาด แขวนไวั กับกิ่งไม้  ผู้เล่นปกติจะมี  2   คน  คือ
คนบรรเลงทำนองเพลง กับคนบรรเลงเสียงกระทบแบบคู่ประสาน  ไม้ตีทำจากไม้เนื้อแข็งรูปคล้ายค้อนตีด้วยมือ ทั้ง  2  ข้าง ๆ ละอัน
          2. แคน  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ที่มีอายุกว่า  3,000 ปีมาแล้ว แคนทำจากไม้ซาง มีลิ้นโลหะบาง ๆ ประกอบไว้ในเต้าแคน  การเป่า ให้เป่าด้านหน้าใช้มือทั้ง 2 ประกบจับเต้าแคนในลักษณะเฉียงเล็กน้อย  เวลาเล่นจะเป่าและดูดกระแสลมผ่านลิ้นโลหะ
          3. พิณ  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด มี  2-3  สาย ประกอบด้วย
                   1) ตัวพิณ
                   2) คันทวน
                   3) นมพิณ
                   4) สายพิณ
                   5) ที่ดีด
          การเล่น เหมือนกับการเล่น กีตาร์ ในปัจจุบัน
          4. กลอง  เป็นเครื่องเคาะจังหวะประเภท ตี ในวงโปงลางจะนิยมใช้กลองยาว ใช้มือตี 2 มือ
          5. ฉิ่ง / ฉาบ
                   - ฉิ่ง  ทำจากโลหะ  ชุดหนึ่งมี 2  ฝาเจาะรูร้อยเชือกไว้ด้วยกัน การตี ถ้าตีที่ขอบบนกระทบกับขอบล่างอย่างหมิ่น ๆ จะมีเสียงดัง ฉิ่งแต่ถ้าตีขอบฝาบนกระทบกับขอบฝาล่างพอดีจะมีเสียงดัง ฉับ
                   - ฉาบ ทำจากโลหะ รูปร่างคล้ายฉิ่งแต่จะบางกว่าและแบนแผ่ออกคล้ายจาน ใช้ตีให้จังหวะสนุกสนาน
          การรวมวงเล่นวงโปงลาง   จะบรรเลงร่วมกันดนตรีต่าง ๆ ทั้ง พิณ  แคน  กลอง  ฉิ่ง  ฉาบ  และ
จะมีนักร้อง  นักแสดง คือ นางรำ ร่วมฟ้อนรำตามจังหวะดนตรี   จำนวนนักแสดงขึ้นอยู่กับขนาดของวง  ตั้งแต่  5- 6  คน จนถึง 20 คน ขึ้นไป

ฟ้อนรำภูไท / ลำภูไท
          การฟ้อนรำภูไท ในชุมชนตำบลคำบง และชุมชนตำบลหนองอีบุตร จะมีลักษณะแตกต่างจากภูไทชุมชนอื่น ๆ บ้างซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนโดยเฉพาะการแต่งกายจะแตกต่างจากภูไทชุมชนอื่นก็คือ จะสวมเสื้อสีดำ ขลิบด้วยผ้าขิด ห่มผ้าแพรวา นุ่งผ้าถุงมัดหมี่มีเชิง
          ลีลาการฟ้อนรำจะผสมผสานจากท่าฟ้อนรำภูไทและท่าเซิ้งบั้งไฟ ท่าฟ้อนจะเริ่มจากท่าไหว้ครู ท่าเดิน  ท่าช่อม่วง  ท่าโนราห์ เป็นต้น โดยนางรำจะเป็นผู้หญิงล้วน ๆ
          การฟ้อนภูไท กาฬสินธุ์  จะมีการขับลำประกอบที่เราเรียกว่า ลำภูไทการลำภูไทเป็นการลำเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว โต้ตอบซึ่งกันและกันระหว่างหนุ่มสาว อย่างสนุกสนาน
          การลำภูไท จะมีเครื่องดนตรีประกอบ เช่น  แคน  พิณ  โปงลาง กลอง  ฉิ่ง  ฉาบ ร่วมกันเราเรียกว่า วงดนตรีพื้นบ้าน
ชุมชนตำบลห้วยผึ้ง ตำบลไค้นุ่น ชาวบ้านจะเป็นผู้ลาวมากกว่าชาวผู้ไท แต่การฟ้อนรำภูไท / ลำภูไท ก็สามารถทำได้เหมือนกันหมด ชุดผู้ไทสำหรับการแต่งกายก็เหมือนกันในเทศกาลงานสำคัญ


ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะพื้นบ้าน
หมอแคน
นายเวิน    วันทอง    อายุ  67 ปี
บ้านเลขที่ 73 หมู่ที่ 4 บ้านหนองอีบุตร ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ความเป็นมา
พ่อเวิน   ได้สืบทอดภูมิปัญญาหมอแคนมาจากพ่อส่วย  สีหลิ่ง พ่อเวินเป่าแคนมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี เนื่องจากความชอบส่วนตัวและอยากอนุรักษ์วัฒนธรรมอีสานที่ดีไว้สู่ลูกหลานสืบทอดต่อไป

ลายแคนที่เป่า
          ลายลมพัดพร้าว   ลายสุดสะแนน   ลายสร้อยน้อย/ใหญ่   เต้ยโนนตาล  งิ้วต่องต้อน  ลำเต้ย  รำภูไท  ลำกลอน  ลำหมู่ (ลำเรื่องต่อกลอน)  ลำซิ่ง

ผลงานเด่นชัด
1. ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดในการประกวดเป่าแคน ประจำปี พ.ศ. 2525
2. เป็นวิทยากรสอนเป่าแคน โรงเรียนหนองอีบุตรไพรเวทย์ ปี พ.ศ. 2552 2553
3. รับเป่าแคนตามงานประเพณีต่าง ๆ ทั้งในและนอกชุมชน

วัสดุ/อุปกรณ์
1.  ไม้ประดู่
2. ไม้กู่แคน (เป็นไม้ไผ่ตระกูลไม้ไผ่เปาะ)
3.  ขี้สูต (จากรังของผึ้ง หรือ มิ้ม)
4.  เงินเหรียญขนาดใหญ่

ขั้นตอนการผลิต
1. เลือกไม้กู่แคนที่มีอายุประมาณ 2 ปี ตัดยาว 3 ฟุต
2. ตัดไม้กู่แคน 8 ชิ้น ไล่ระดับความสูง   เจาะรูให้กลวง 
3. ใช้ขี้สูต เป็นตัวเชื่อมระหว่างไม้กู่แคน
4. นำไม้ประดู่มาทำเป็นไม้เป่า (เต้าแคน) ใช้สิ่วเจาะให้กลวงเพื่อเป็นที่สอดใส่ลูกแคนและเป็นทางให้ลมเป่าผ่านไปยังลิ้นแคนได้สะดวก
5. นำเงินเหรียญตัดเป็นเส้นและตีให้เป็นแผ่นบางๆให้ได้ขนาดที่จะสับเป็นลิ้นแคน นำลิ้นแคนไปสอดใส่ไว้ในช่องรูลิ้นของกู่แคนหรือลูกแคนแต่ละลูก
6.  นำเต้าแคนมาประกอบเข้ากับไม้กู่แคนให้เข้ากัน
ระบบของเสียงแคน 
ระบบของแคนแปดมีเสียงทั้งหมด 16 เสียง แต่เป็นระดับเสียงที่ซ้ำกัน 2 เสียง จึงมีเสียงที่มีระดับแตกต่างกันทั้งหมด 15 เสียง เรียงลำดับจากต่ำไปสูง
การเป่าแคน
          การเป่าเหมือนกับการฝึกหัดเครื่องดนตรีอื่นๆ  คือเรียนด้วยตนเองจากการสังเกตจดจำจากที่เคย   ได้ยินได้ฟัง ผู้เป่าจำเป็นต้องรู้ตำแหน่งของเสียงแคนว่าลูกใดเป็นเสียงลูกใดคู่กับลูกใด นอกจากนี้ยังต้องรู้ตำแหน่งของนิ้วมือด้วยว่านิ้วใดใช้กดหรือนับลูกใดบ้าง
เนื่องจากแคนแปดมีลูกแคนข้างละแปดลูกจึงจำเป็นต้องแบ่งหน้าที่   ดังนี้
         1. หัวแม่มือ มีหน้าที่กอไว้เฉพาะลูกที่หนึ่ง (ลูกที่อยู่ใกล้ที่เป่าที่สุด)
         2. นิ้วชี้ มีหน้าที่กดได้สองลูกคือลูกที่สองกับลูกที่สาม
         3. นิ้วกลาง มีหน้าที่กดได้สองลูกคือลูกที่สี่กับลูกที่ห้า
         4. นิ้วนางกดได้สองลูกคือ ลูกที่หกกับลูกที่เจ็ด
         5. นิ้วก้อย มีหน้าที่กดได้ลูกเดียวคือลูกที่แปด คือลูกเล็กที่สุดที่อยู่ปลายสุด
ผลผลิต/เดือน
                   ประมาณ  3 5   ชิ้น
ราคา / หน่วย
                   แคนขนาดใหญ่และเล็กราคา 2,000  บาท/ชิ้น


การถ่ายทอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. สอนบุตรหลานในครอบครัว
2. เป็นวิทยากรภายนอก สอนด้านการทำแคน และการเป่าแคนให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองอีบุตรไพรเวทย์และผู้ที่สนใจในตำบลหนองอีบุตร




ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะพื้นบ้าน
หมอลำเรื่องต่อกลอน
นายไชยงค์  อุ่นบุญเรือง   อายุ   58 ปี
บ้านเลขที่  62 หมู่ที่ 4 บ้านหนองอีบุตร ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
โทรศัพท์   081-0381795
ความเป็นมา
          พ่อไชยงค์ได้ศึกษาด้านหมอลำ เมื่ออายุ  15  ปี  อาจารย์สอนหมอลำคนแรกคือหมอลำบุญเยี่ยม  เขจรสัตย์  เป็นน้าชาย  ได้ศึกษาหมอลำจนมีความสามารถไปแสดงร่วมกับหมอลำรุ่นพี่ได้  ในอดีตหมอลำเรื่องต่อกลอนจะมีการจ้างตัวแสดงเป็นรายตัวแล้วไปรวมกันเป็นคณะ ในช่วงนั้นจะเรียกว่า หมอลำกระเป๋า  เมื่อปี  พ.ศ.  2517  พ่อไชยงค์ได้เข้าไปสังกัดกับคณะขวัญใจประทุมทิพย์  แสดงเป็นลูก  ใช้เวลาแสดงกับคณะขวัญใจประทุมทิพย์เป็นเวลา  5  ปี  ในปี พ.ศ. 2523  ได้ติดตามพระเอกขวัญชัย แสงยศไปก่อตั้งหมอลำคณะฟ้าสีคราม  ได้แสดงเป็นตัวโกง (ผู้ร้าย)  โดยมีพระเอกบุญน้อย  เสียงทองเป็นพระเอกในคณะ พ่อไชยงค์ ได้ร่วมแสดงกับคณะฟ้าสีครามจนถึงปี พ.ศ. 2528 จึงได้ออกมาก่อตั้งคณะดาวหลักเมือง  โดยมีนายทองแดง  แก้วคำภา  เป็นหัวหน้าคณะ  ได้รับบทแสดงเป็นตัวโกงจนถึงปัจจุบัน
งานที่รับแสดง
          งานกฐิน   งานบวช   งานแต่งงาน   งานประเพณีต่าง ๆ   ทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์  และจังหวัดใกล้เคียง
ขั้นตอนการแสดง
          1. ก่อนทำการแสดง หมอลำและตัวแสดงทุกคนจะต้องยกอ้อลำ (ไหว้ครู) เพื่อให้อ้อป่อง การแสดงราบรื่นดี ส่วนมากหมอลำจะไม่กินอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ
          2. ทำการแสดงเต้นโชว์ เวลาประมาณ 23.00 น.  ทำการแสดงลำเรื่องต่อกลอน ประกอบกับ  ลำเต้ย  คั่นด้วยการแสดงตลก  จนจบการแสดง



อัตราค่าจ้าง
          วงเล็ก  
                   ในพื้นที่           30,000 บาท
                   นอกพื้นที่         40,000 บาทขึ้นไป
วงกลาง
                   ในพื้นที่           40,000 50,000 บาท
                        นอกพื้นที่         60,000 บาทขึ้นไป
          วงใหญ่
                   ในพื้นที่           70,000 100,000  บาท
                   นอกพื้นที่         100,000 บาทขึ้นไป

การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. สนับสนุนให้ลูกหลานในชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดง
2. ปลูกฝังบุตรหลานในชุมชนให้อนุรักษ์หมอลำพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่น
3. จัดทำเอกสารแผ่นพับประกอบการเรียนรู้
ศึกษาดูงานฯ  บ้านดอนมัน  ตำบลขามเรียง   อำเภอกันทรวิชัย  จังหวัดมหาสารคาม


การประเมินและคัดเลือกกิจกรรมพัฒนาชุมชนและ อปท. ดีเด่น  ประจำปี  2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น