วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน


5. ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน
อำเภอห้วยผึ้ง มีกลุ่มออมทรัพย์ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล แต่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม
ได้รับรางวัลในการประกวดระดับจังหวัดกาฬสินธุ์ คือได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง มีการบริหารจัดการโดยบุคลากรในชุมชน  มีการฝากเงิน- ถอนเงิน ทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของทุกเดือน เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชุมชนทั่วไปสามารถนำไปปรับใช้กับชุมชนของตนเองได้ ข้าเจ้าได้มาศึกษาขั้นตอนการทำงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงามค่ะ และข้าพเจ้าได้ฝากเงินด้วยเดือนละ 1,000 บาท มีสมุดบัญชีเหมือนคุณตา คุณยายในรูป และอยู่ใกล้โรงเรียนที่สอนค่ะ

รับฝากเงินโดยสมาชิกในกลุ่มออมทรัพย์ (ตรวจเช็คบัญชีของตนเอง)

มีการแบ่งงานกันทำเป็นฝ่ายๆ เหมือนธนาคาร แต่เปิด เดือนละ 2 วัน


ประธานและรองประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม



กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม
หมู่ 10 ตำบลนิคมห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์

ส่วนที่ 1 บทนำ
1.ข้อมูลทั่วไป
          บ้านไทรงาม หมู่ที่ 10 (บ้านนิคมหมู่ 2 แปลง 1) จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2506 อยู่ในเขตของนิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ ราษฏรในหมู่บ้านมีที่มาจากชน 2 เผ่า คือ เผ่าผู้ลาว อพยพมาจากอำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และเผ่าผู้ไท อพยพมาจากบ้านกุดสิม อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ 58 กิโลเมตร
          1.1 สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน เป็นที่ราบลุ่ม จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 165 ครัวเรือน ประชากร 623 คน
แยกเป็นชาย 303 คน หญิง 320 คน
          1.2 อาชีพ ประชาชนประกอบอาชีพหลัก คือ ทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพเสริม คือ เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า และจักสาน

2. ที่มาการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
          กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม หมู่ที่ 10 ตำบลนิคมห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล ให้หน่วยงานราชการส่งเสริมให้ประชาชนรู้และเล็งเห็นความสำคัญของการประหยัดและเก็บออมทรัพย์ ตามกำลังความสามารถ โดยส่งเสริมการดำเนินงานในรูปแบบของกลุ่ม เรียกชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” มีสมาชิกครั้งแรก จำนวน 25 คน  คณะกรรมการ 15  คน รับฝากเงินสัจจะทุกวันที่ 5 ของเดือน และมีเงินฝากครั้งแรก จำนวนเงิน 5,000 บาท โดยคณะกรรมการได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขากุฉินารายณ์ และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

3. หลักการดำเนินงาน
          การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นการรวมตัวของประชาชน บริหารจัดการโดยประชาชน และเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและหมู่บ้าน จึงมีหลักการดำเนินงาน ดังนี้
          1. ความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นการสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของให้กับสมาชิกทุกคน ทำให้เกิดความรับผิดชอบ และช่วยกันดูแลเอาใจใส่ในการดำเนินงานของกลุ่ม
          2. การพึ่งตนเอง ฝึกนิสัยการประหยัดและอดออม โดยนำเอาคุณสมบัติพิเศษ 3 ประการ ของชาวชนบท คือ ความซื่อสัตย์ ความขยัน และความอดทน มารวมกันในรูปกลุ่ม ทำให้มีการรวมเงินทุนชุมชนเป็นของตนเอง ลดการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอกหมู่บ้าน
          3. หลักคุณธรรม ใช้การออมทรัพย์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน เพื่อให้คนมีคุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกัน และความไว้วางใจกัน
          4. หลักการควบคุมกันเอง สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตทุกคนจะต้องให้ความสนใจ ดูแลความเคลื่อนไหว และตรวจสอบซึ่งกันและกัน
          นอกจากหลักการดังกล่าวข้างต้น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม ยังยึดหลักการดำเนินงานตามหลัก 5 ก ประกอบด้วย
          ก. 1 : กลุ่ม มีที่มาจากสมาชิกทุกคนที่มองเห็นประโยชน์ร่วมกันและร่วมกันจัดตั้งกลุ่มขึ้น
          ก. 2 : กรรมการ ซึ่งมาจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม และพิจารณาคัดเลือกกันเองโดยสมาชิกในกลุ่ม
        ก. 3 :  กฎ กติกา หรือระเบียบ คือสิ่งที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันกำหนดเพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน
          ก. 4 : กิจกรรม คือ การดำเนินงานของกลุ่ม
          ก. 5 : กองทุน คือ เงินที่ใช้ในการดำเนินงาน

4. คุณธรรม
          คณะกรรมการ และสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม หมู่ที่10 ทุกคนจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และยึดถือหลักคุณธรรม 5 ประการ ในการดำเนินงาน ประกอบด้วย
          1. ความซื่อสัตย์
          2. ความเสียสละ
          3. ความรับผิดชอบ
          4. ความเห็นอกเห็นใจกัน
          5. ความไว้วางใจกัน

5. วัตถุประสงค์การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์
          กรมพัฒนาชุมชน ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตไว้ 3 ดังนี้
          1. เพื่อพัฒนาคน โดยใช้หลักการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองและเพื่อนสมาชิกให้มีคุณธรรม 5 ประการ
          2. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยการระดมเงินออม จัดตั้งเป็นกองทุน ทำให้ชุมชนมีแหล่งเงินทุนในการกู้ยืมไปประกอบอาชีพ ใช้ตามความจำเป็นของครอบครัว และเรียนรู้กิจกรรมเชิงธุรกิจ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว
          3. เพื่อพัฒนาสังคม โดยการปลูกฝังคุณธรรม 5 ประการ ปลูกฝังวิถีประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความสามัคคี การช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน ความร่วมมือร่วมใจ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันของสมาชิก

6. วัตถุประสงค์ของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน โดยยึดตาม
แนวทางวัตถุประสงค์ ที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดไว้ และปรับให้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และบริบทของชุมชน ดังนี้
          1. เพื่อเป็นการเก็บออมทรัพย์จากการมีรายได้ตามกำลังความสามารถ
          2. เพื่อสร้างแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ส่งเสริมและพัฒนาสู่การสร้าง สวัสดิการ หรือประโยชน์ให้ประชาชนในชุมชน
          3. เพื่อให้ผู้มีโอกาสที่ดีกว่าได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
          4. เพื่อเป็นการฝึกการทำงานร่วมกันในชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบบริหารจัดการกลุ่มของตนเอง
          5. ส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการพึ่งตนเอง การเรียนรู้และการพัฒนาความคิดเพื่อการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมสร้างศักยภาพ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน
          6. สนับสนุนการสร้างเสริมศักยภาพ และความเข็มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ชุมชน
          7. เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน

ส่วนที่ 2 กระบวนการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม
           หมู่ที่ 10 ตำบลนิคมห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์

1. ด้านโครงสร้างและกระบวนการทำงาน
          1.1 คณะกรรมการ






                   คณะกรรมการ จำนวน 13 คน แบ่งเป็น 4 ฝ่าย มาจากการเลือกโดยสมาชิกกลุ่ม ทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจนและปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ทุกคน มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน และจดบันทึกรายงานการประชุมทุกครั้ง
          1.2 สมาชิก
                   สัดส่วนสมาชิกกับจำนวนราษฎรในหมู่บ้าน เป็นสมาชิก 479 คน ของราษฎรทั้งหมดในหมู่บ้าน 623 คน คิดเป็นร้อยละ 77 สมาชิกส่งเงินสัจจะสะสมเป็นประจำทุกเดือนและตรงตามกำหนดและวงเงินสัจจะสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2554 สมาชิกฝากเงิน เพิ่มขึ้น 144 คน คิดเป็น ร้อยละ 30 ส่วนสมาชิกที่กู้เงินจากกลุ่มส่งคืนเงินกู้ตรงตามกำหนดเวลาทุกคน
          1.3 ระเบียบข้อบังคับ
                   ระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม เกิดจากเวทีประชาคมสมาชิก บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการปรับปรุง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมาชิกสามารถปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับทุกข้อได้อย่างสม่ำเสมอ


          1.4 ที่ทำการกลุ่ม
                   สถานที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านไทรงาม มีอาคารถาวร มีป้ายชื่อกลุ่มและป้ายแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
          1.5 การบริหารจัดการ
                   กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงามหมู่ที่ 10 มีระบบการบริหารจัดการ โดยใช้แผนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มและปฏิบัติตามแผน สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมตามแผนธุรกิจของกลุ่มฯมากกว่าร้อยละ 75 มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและสมาชิกเข้าร่วมประชุมมากกว่าร้อยละ 75 และมีการจดบันทึกการประชุมทุกครั้ง
1.6 ระบบข้อมูล
                   มีการจัดทำทะเบียนข้อมูลของกลุ่ม ได้แก่ ทะเบียนสมาชิก ทะเบียนลูกหนี้ ทะเบียนครุภัณฑ์ สมุดบัญชีต่างๆ จัดทำครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน โดยจัดเก็บในระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และเป็นเล่มเอกสารสามารถตรวจสอบได้ กระบวนการทำงานของกลุ่มฯ เชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เป็นต้น

2. ด้านการบริหารเงินทุนและทรัพยากร
          2.1 ความมีวินัยในการบริหารเงินทุนและการควบคุมการเงิน
                   การจัดทำเอกสาร หลักฐานทางการเงิน ทะเบียนคุมเงินสัจจะสะสม ทะเบียนคุมลูกหนี้ ทะเบียนคุมดอกเบี้ยเงินกู้ สรุปการรับจ่ายเงินประจำวัน ประจำเดือน การจัดทำบัญชีเงินสด- รับ-จ่าย งบกำไร-ขาดทุน งบทดลองและงบดุลครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และถูกต้องตามหลักบัญชี
                   การฝากเงิน กลุ่มฯ นำเงินฝากกับสถาบันการเงินบ้านไทรงามเป็นประจำทุกเดือน และมีการรายงานสถานะทางการเงินให้คณะกรรมการและสมาชิกทราบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมทั้งปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการกลุ่มฯ
          2.2 ความโปร่งใส
                   มีการตรวจสอบบัญชีโดยคณะกรรมการกลุ่มเป็นประจำทุก 2 เดือน และมีการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี จำนวน 1 คน
          2.3 ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินทุน
                   นอกจากการให้บริการเงินกู้แก่สมาชิกแล้ว กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ยังได้ดำเนินกิจกรรมเชิงธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น กิจกรรมการซื้อขายปุ๋ย และปัจจัยการผลิต กิจกรรมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย กิจกรรมไถ่ถอนหนี้นอกระบบ การโอนเงิน การเติมเงินโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งจากการดำเนินธุรกิจนอกจากได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนด้านจิตใจจากสมาชิกที่กลุ่มสามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยจากการเป็นหนี้นอกระบบได้

3. ด้านการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กร
          3.1 การพัฒนาความรู้ / ศักยภาพแก่คณะกรรมการ
                   คณะกรรมการได้เข้ารับการอบรม ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินทุนและมีการแลกเปลี่ยน แนวคิด หลักการ วิธีการดำเนินงานกับองค์กรภายนอก ในรอบปี จำนวน 4 ครั้ง และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในองค์กร จำนวน 6 ครั้ง ในปี 2554
                   อบรมระบบบัญชี
                   อบรมที่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกาฬสินธุ์
                   ศึกษาดูงานที่บ้านยางอุ้ม
          3.2 การพัฒนาความรู้ / ศักยภาพแก่สมาชิก
                   คณะกรรมการ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ด้านประสบการณ์การประกอบอาชีพ อาชีพเสริมแก่สมาชิก
          3.3 การพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่ม
                   เป็นแกนนำในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการส่งเสริมกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในระดับครัวเรียน กิจกรรมส่งเสริมการออม กิจกรรมส่งเสริมการลด ละ เลิกอบายมุข และการประหยัดอดออม รวมทั้งเป็นแกนนำในการจัดทำแผนชุมชน

4. ด้านผลประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชน
          4.1 การจัดสรรผลประโยชน์
                   การจัดสรรผลกำไรของกลุ่ม มีการปันผล เฉลี่ยคืน เก็บเป็นทุนสำรอง / ทุนดำเนินงานของกลุ่ม และเป็นทุนในการจัดสวัสดิการแก่สมาชิกและชุมชน ดังนี้
                   ปันผลคืนสมาชิก                    ร้อยละ 50
                   บริหารจัดการกลุ่ม                  ร้อยละ 25
                   ค่าตอบแทนกรรมการ               ร้อยละ 20
                   สาธารณะประโยชน์                 ร้อยละ 5
         
4.2 การจัดสวัสดิการ
                   มีการจัดสวัสดิการแก่สมาชิก ชุมชน และครัวเรือนยากจน หรือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างทั่วถึง เช่น สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/ คลอดบุตร การเจ็บป่วย/ รักษาพยาบาล  สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการกรณีเสียชีวิต สงเคราะห์คนด้อยโอกาส คนพิการ สวัสดิการเพื่อการศึกษา เป็นต้น

ส่วนที่ 3 กิจกรรมของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม
          กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม จัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์เพื่อเป้นแหล่งเงินทุนของประชาชนในชุมชน มีกิจกรรมที่ดำเนินการหลากหลาย ดังนี้
          1. กิจกรรมการรับฝาก- ให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิก คิดดอกเบี้ยไม่เกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด คือ ร้อยละ 1 บาท ต่อเดือน ไม่รับฝากเงินจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และไม่ปล่อยสินเชื่อให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกู้ สถานะทางการเงินมีดังนี้
                   1.1 การรับฝากเงิน
                   1.2 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำปี 2554
                             1.2.1 เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ (สัจจะ)      ร้อยละ 5 บาทต่อปี
                             1.2.2 เงินฝากเผื่อเรียก                       ร้อยละ 2 บาทต่อปี
                             1.2.3 เงินฝากประจำ
                                      - ประจำ 1 ปี              ร้อยละ 5 บาทต่อปี
                                      - ประจำ 2 ปี              ร้อยละ 2 บาทต่อปี
                   1.3 การให้กู้ยืม (สินเชื่อ)
                             1.3.1 เงินกู้ระยะ 3 เดือน – ใช้บุคคลค้ำประกัน 2 คน ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน
                             1.3.2 เงินกู้ระยะ 1 ปี – ใช้บุคคลค้ำประกัน 2 คน ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน
                             1.3.3 เงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันโดยไม่ต้องประเมินราคาดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน
                             1.3.4 เงินกู้พิเศษ (ชำระหนี้นอกระบบ) ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและต้องประเมินราคา ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน
                             1.3.5 กิจกรรมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกรณีที่ต้องการซ่อมแซม หรือปรับปรุง ต่อเติมที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงแข็งแรง ให้กู้จำนวน 3 รายๆ ละ 50,000 บาท รวม 150,000 บาท
          2. กิจกรรมการจัดซื้อปุ๋ยมาจำหน่วยให้กับสมาชิกในราคาถูก
          3. การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
                   3.1 การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปี 2554
          ตามนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล โดยเฉพาะลูกหนี้นอกระบบที่ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารและเป็นลูกหนี้นอกระบบที่ไม่ได้ลงทะเบียน ถือเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
จากการกู้เงินนอกระบบเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอห้วยผึ้ง จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อันเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน
          ในเบื้องต้นได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลลูกหนี้นอกระบบของหมู่บ้าน ที่ไม่ได้ลงทะเบียน และที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ดังกล่าวสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือตามศักยภาพและขีดความสามารถ ภายใต้รูปแบบและเงื่อนไข กฎ ระเบียบของกลุ่มฯและมีผู้สมัครเข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือจำนวน 3 ราย วงเงิน 190,000 บาท
          ผลที่ได้รับจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น นอกจากเป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ฯแล้ว ยังเป็นไปตามหลักคุณธรรม 5 ประการ ภายใต้หลักการดำเนินงาน 5 ก อันจะส่งผลทางด้านจิตใจในระยะยาว คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี มีความเอื้ออาทร ให้โอกาสกับผู้ที่ด้อยกว่า สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองในการประกอบอาชีพ จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข และตอบแทนชุมชนด้วยการกระทำในลักษณะเดียวกันเมื่อมีโอกาสอันควร
          3.2 การดำเนินงานสวัสดิการชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปี 2554
          ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเสริมสร้าง สวัสดิการชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้หมู่บ้านสร้างระบบสวัสดิการชุมชนของตนเอง เน้นการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไทรงาม เป็นองค์กรการเงินชุมชนที่มีความพร้อมและได้กำหนดรูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชน ของตนเองขึ้น ซึ่งเงินทุนในการจัดสวัสดิการ มาจากวิธีการและแหล่งเงินดังนี้
          1. จัดตั้งกองทุนสวัสดิการออมวันละบาท โดยให้สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตสมัครเป็นสมาชิกเป็นอันดับแรก และขยายผลไปสู่ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ
          2. เงินจากการจัดสรรกำไร ประจำปีของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนหมู่บ้านรูปแบบของกิจกรรมด้านสวัสดิการชุมชน
          รูปแบบของกิจกรรมด้านสวัสดิการชุมชน มีดังนี้
          1. สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/ คลอดบุตร มอบของหรือเงินเยี่ยมคลอด รายละ 500 บาท
          2. สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย/ รักษาพยาบาล กรณีการเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจ่ายสวัสดิการ คืนละ 100 บาท ไม่เกิน 5 คืนต่อครั้ง
          3. สวัสดิการผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมวันผู้สูงอายุ มอบถุงของขวัญรายละ 100 บาท / คน
          4. สวัสดิการกรณีเสียชีวิต ถ้าเป็นสมาชิกมอบเงินสงเคราะห์แก่ทายาท รายละ 10,000 บาท กรณีเป็นคนในครอบครัวแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกมอบเงินช่วยเหลือ รายละ 1,000 บาท
          5. สวัสดิการคนด้อยโอกาส / คนพิการ กรณีเจ็บป่วยมอบของเยี่ยมรายละ 300 บาท
          6. สวัสดิการเพื่อการศึกษา ในปี 2554 มอบทุนการศึกษานักเรียนเรียนดีแต่ยากจน จำนวน 4 ทุน ทุนละ 500 บาท เป็นเงิน 2,000 บาท
          7. สวัสดิการด้านอื่น ๆ
                   - การให้บริการเช่าอุปกรณ์เครื่องครัว เต็นท์โต๊ะ เก้าอี้ แก่สมาชิกในอัตราถูก
                   - การจัดซื้อพันธุ์ปลาเพื่อปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ
4.ความสำเร็จของสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ
          สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่กู้เงินไปประกอบอาชีพตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมและประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างจำนวน 3 ราย และ 1 ประเภทสินเชื่อ ดังนี้
          4.1 นางผ่องศรี รังหอม บ้านเลขที่ 42 ยอดเงินฝากสัจจะสะสม จำนวน 3,502 บาท กู้เงินจากกลุ่มฯ จำนวน 30,000 บาท ไปประกอบอาชีพเสริมในการทอผ้าพื้นเมือง สามารถส่งชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเวลา และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพ เฉลี่ยเดือนละ 1,500 – 2,000 บาท
          4.2 นางอรุณ บุญทองโท บ้านเลขที่ 130 สมาชิกเลขที่ 11 ยอดเงินฝากสัจจะสะสม จำนวน 67,802 บาท กู้เงินจากกลุ่มฯ จำนวน 50,000 บาท ไปประกอบอาชีพค้าขาย สามารถส่งชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเวลา และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพ เฉลี่ยเดือนละ 4,500-6,000 บาท
          4.3 นางบุญกอง รังรส บ้านเลขที่ 78 สมาชิกเลขที่ 98 ยอดเงินฝากสัจจะสะสม จำนวน 3,055 บาท เงินกู้จากกลุ่มฯ จำนวน 30,000 บาท ไปประกอบอาชีพรับซื้อ – ขายส่งผัก สามารถส่งชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเวลา และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพ เฉลี่ยเดือนละ 3,500- 4,500 บาท
          4.4 กิจกรรมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อ ช่วยเหลือสมาชิกในกรณีที่ต้องการซ่อมแซม หรือปรับปรุง ต่อเติมที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงแข็งแรง ให้กู้ จำนวน 3 ราย ๆ ละ 50,000 บาท รวม 150,000 บาท

ส่วนที่ 4 บทสรุป
          กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต นอกจากเป็นกลุ่มองค์กรการเงินในชุมชน ยังเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของคนทั้งในชุมชนและจากหมู่บ้าน ชุมชนอื่นๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลจากการมุ่งมั่น ประกอบอาชีพโดยสุจริต มีรายได้เพิ่มขึ้นและเก็บออมทรัพย์ตามกำลัง ความสามารถ มีการรวมกลุ่ม กำหนดกฎ กติกา ยึดถึอหลักคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีความอดทน และเป็นประชาธิปไตย อันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กลุ่มยอมรับ


ผลการดำเนินงานสถาบันการเงินบ้านไทรงาม ม.10  ปีพ.ศ. 2554
คณะทำงานสถาบันการเงินบ้านไทรงาม ม.10
              1.  นายประสิทธิ์           ไกยวรรณ์                ผู้จัดการสถาบันการเงินฯ
              2.  นางสำลี                    ดอนโสรส              รองผู้จัดการสถาบันการเงินฯ/หัวหน้าสินเชื่อ
              3.  นางสุปราณี              บุญยิ่ง                      เลขานุการ /หัวหน้างานการเงิน
              4.  นางหนูค้า                 สิงห์สุวรรณ            พนักงานการเงิน
              5.  นางนันทิยา              ไทยแท้                    พนักงานการเงิน
              6.  นางนันทา                 ไกยสวน                 พนักงานสินเชื่อ
              7.  นางสุภาพรรณ์          วงษ์ศรีแก้ว             พนักงานสินเชื่อ
              8.  นายบุญเพ็ง                วาริพิน                   พนักงานสินเชื่อ
              9.  นางปวริศา                 วรดล                     พนักงานสินเชื่อ
            10.  นางบุญกอง                รังรส                     พนักงานสินเชื่อ
            11.  นางสุภาพรชัย            ประเสริฐสาร         พนักงานบัญชี

ผู้ตรวจสอบกิจการสถาบันการเงินชุมชนบ้านไทรงาม ม.10
               1.  นางสาวระวีวัลย์  รังรส

คณะกรรมการที่ปรึกษาสถาบันการเงินชุมชนบ้านไทรงาม ม.10
              1.  นายสมเดช    กาญบุตร
              2.  นายเคน           กุลมี                                      
              3.  นายต่อม          สิมสาร                                 
              4.  นายทองสุข     กุลมี                                      
              5.  นายอนันต์       บุตรโพธิ์ศรี                          
              6.  นายจักรทิพย์   ดอนถวิล
              7.  นายสมเดช       กาญบุตร
              8.  นายอรรณพ      ชมพูบุตร
              9.  นางสุนันทา       วงษ์โต

ปัจจุบัน
           1.  มีสมาชิกจำนวน                                                 495  ราย
           2.  มีคณะกรรมการดำเนินงาน                                      11  คน
           3.  แบ่งการทำงานออกเป็น                                          4  ฝ่าย
               3.1  ฝ่ายอำนวยการ
               3.2  ฝ่ายรับฝากเงิน
               3.3  ฝ่ายส่งเสริมสินเชื่อ / ประชาสัมพันธ์
               3.4  ฝ่ายตรวจสอบ / บัญชี


ประเภทเงินกู้ - การค้ำประกัน
        1.   เงินกู้ระยะ  3 เดือน
              -   วงเงินกู้    3,000  บาท    ใช้บุคคลค้ำประกัน  2 คน
              -   วงเงินกู้  10,000  บาท    ใช้บุคคลค้ำประกัน  2 คน
              -    ด/บ  หัก  ณ.  ที่จ่าย  ดอกเบี้ยร้อยละ  1  บาทต่อเดือน
        2.   เงินกู้ระยะ  1  เดือนแต่ทำสัญญาเป็น  1 ปี
              -   วงเงินกู้ที่อนุมัติได้ตั้งแต่  1,000  บาท  และไม่เกิน  30,000  บาท
              -   ใช้บุคคลค้ำประกัน  2 คน
              -    ด/บ  ร้อยละ  1  บาทต่อเดือน
        3.  เงินกู้ระยะปานกลาง  5 ปี  ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ต้องประเมินราคา
              -   วงเงินกู้  30,000  บาท  และไม่เกิน  50,000  บาท
              -    ด/บ  ร้อยละ  1  บาทต่อเดือน
        4.  เงินกู้พิเศษ  1  (หมุนธนาคาร)
              -   วงเงินกู้ตามเงินกู้จริงจากใบเตือนชำระหนี้จากธนาคาร
              -   สัญญาส่งคืนไม่เกิน  10  วัน
              -   ด/บ  ร้อยละ  1  บาทต่อครั้ง

        5.  เงินกู้พิเศษ  2
              -   วงเงินกู้ชำระหนี้นอกระบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและหลักทรัพย์ต้องประเมินราคาด้วย
              -   วงเงินกู้ไม่เกิน  100,000  บาท
              -    ด/บ  ร้อยละ  1  บาทต่อเดือน
กำไรสุทธินำมาจัดสรร
             1.   ค่าตอบแทนกรรมการ       40%       เป็นเงิน         50,653.01  บาท
             2.   สาธารณะประโยชน์          5%        เป็นเงิน           6,331.63   บาท
             3.   ทุนเพื่อการศึกษาอบรม     5%        เป็นเงิน           6,331.63   บาท
             4.   ทุนสำรอง                       10%         เป็นเงิน         12,663.25   บาท
             5.   กองทุนสวัสดิการ           20%         เป็นเงิน         25,326.50   บาท
             6.   โบนัสกรรมการ             20%          เป็นเงิน         25,326.50   บาท
                   รวมกำไรสุทธินำมาจัดสรร             เป็นเงิน         126,632.52  บาท
       ปีนี้ในส่วนของกองทุนสวัสดิการสถาบันการเงินฯ มีการจัดให้สวัสดิการดังต่อไปนี้
       1.  จัดสรรเป็นของขวัญสำหรับผู้ฝากเงินสูงสุด  5 ลำดับ (ยอดเงินฝากตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป)
             (1)  นางเจียมจิตร  บรรเจิด
             (2)  แม่ไกร  เงียบสดับ
             (3)  นางนันทา  ไกยสวน
             (4)  นายคำไพ  มูลรัตน์
             (5)  นางจิราวรรณ  กุลมี
        2.  บริจาคศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชนบ้านไทรงาม ม.10  (สุขศาลา)                           1,000  บาท
        3.  บริจาควัดนิคมพัฒนารามบ้านไทรงาม ม.10                                                 1,000  บาท
        4.  สนับสนุนทุนการศึกษาทางโรงเรียนนิคมกุฉินารายณ์ หมู่ 2                                1,000  บาท
        5.  การเสียชีวิตคนในครอบครัวของสมาชิกสถาบันการเงินฯ ช่วยศพละ                      1,000   บาท
        6.  สมาชิกป่วยนอนโรงพยาบาลคืนละ 100 บาท และไม่เกิน 10 คืน ( คน/ครั้ง/ปี )       1,000   บาท
        7.  คลอดบุตรจะได้รับสวัสดิการรับขวัญเด็ก                                                       500   บาท  




ประกาศอัตราดอกเบี้ยประจำปี พ.. 2555
         ประเภทเงินฝาก                                                                                อัตราดอกเบี้ย
         เงินรับฝากออมทรัพย์สัจจะ                                                                             5%
         เงินรับฝากออมทรัพย์เผื่อเรียก                                                                         2%
         เงินรับฝากประจำ 
              -   12  เดือน                                                                                         5%
              -   24  เดือน                                                                                         6%
              -   36  เดือน                                                                                         6%
              -   60  เดือน                                                                                         6%

( สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพเงิน)

แผนการดำเนินงานปี  2555-2558
1.  จัดให้มีการระดมเงินฝากอย่างน้อยปีละ  1 ครั้งต่อปี
2.  จัดให้คณะกรรมการและสมาชิกได้รับการศึกษาอบรมเพื่อเพิ่มทักษะหาประสบการณ์อย่างน้อย
     ปีละ 1 ครั้ง
3.  จัดให้มีศูนย์สาธิตการตลาดในชุมชน
4.  จะจัดทำโครงการน้ำดื่มสะอาดเพื่อบริการชุมชนในราคาถูก
5.  จะจัดให้สมาชิกได้รับสวัสดิการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี
6.  จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานแทนคณะกรรมการ 4 ตำแหน่ง  ที่จำเป็นต่องานสถาบันฯ เช่น
     การเงิน  การบัญชี  สินเชื่อ  การตลาด  และอื่น ๆ ที่จำเป็นต่องาน
7.  จะจัดให้มีปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ 2 หัวจ่าย  เบนซิน  และ ดีเซล
8.  จะจัดมอบทุนการศึกษาแก่บุตรหลานสมาชิกและกรรมการที่เรียนต่อระดับมีธยมศึกษาตอนต้น 
     ถึงปริญญาตรีทุกปีตามความเหมาะสม
9.จะพัฒนาและปรับปรุงสถาบันการเงินชุมชนไทรงามให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่กองทุนหมู่บ้านและสถาบัน
    การเงินอื่น ๆ ที่ต้องการเข้ามาศึกษา
                                                                             สำเนาถูกต้อง
                                                                               …………………………..




1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดี!
      คุณต้องการเงินกู้หรือไม่? ฉันเป็นผู้ให้กู้ที่ลงทะเบียนและเชื่อถือได้ฉันให้ออกเงินให้กู้ยืมแก่คนที่มีปัญหาทางการเงินคนพยายามที่จะชำระค่าใช้จ่ายโรงเรียนผู้ที่พยายามที่จะซื้อรถหรือเริ่มต้นขึ้นมีธุรกิจของตัวเองผู้รับเหมาและหน่วยงานภาครัฐ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือแบบฟอร์มขอสินเชื่อติดต่อเราทางอีเมล: thompson.loanservice@gmail.com
    การจัดการ whatsapp: +254753990568
    ติดต่อสินเชื่อ Speedy ตอนนี้ !!!

    ตอบลบ